บทความ ปัญหาผมร่วง
บทความ ปัญหาผมร่วง
ความจริงเกี่ยวกับเส้นผม
- เส้นผมคนเรามีทั้งหมดประมาณ 100,000 เส้น เส้นผมแต่ละเส้นจะมีวงจรชีวิตเป็น 3 ระยะ คือระยะ growing phrase, resting phrase และ falling phrase เริ่มจากระยะที่หนึ่ง (growing phrase) เป็นระยะที่เส้นผมงอกยาวขึ้น กินเวลาประมาณ 2-5 ปี จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สอง (resting phrase) ซึ่งเป็นระยะพัก เพียงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ และระยะที่สาม (falling phrase) เป็นระยะที่ผมเริ่มหลุดล่วง เนื่องจากถูกทดแทนด้วยเส้นผมใหม่ที่เกิดขึ้นข้างใต้ ดันให้เส้นผมเดิมหลุดพ้นหนังศีรษะออกมา ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2-6 เดือน
- โดยประมาณ 90% ของผมทั้งศีรษะอยู่ในระยะ growing phrase ในแต่ละวันจะมีเส้นผมที่หลุดล่วงจากหนังศีรษะประมาณ 50-100 เส้น ซึ่งถือว่าเป็นปกติ
- เส้นผมคนเรางอกยาวออกด้วยอัตราประมาณ 0.3 มิลลิเมตร ต่อวัน หรือประมาณเดือนละ 1-2 เซนติเมตร
ความยาวของเส้นผมในแต่ละคน ขึ้นกับระยะเวลาของวงจรชีวิตเส้นผมในระยะ growing phrase ซึ่งขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ในคนที่มีระยะนี้ยาวนาน อาจมีเส้นผมยาวถึงเอวได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นระยะ growing phrase จะสั้นลง
เมื่อไรจึงจะถือว่ามีผมร่วงที่ผิดปกติ
ดังที่กล่าวแล้วว่า แต่ละวันจะมีเส้นผมหลุดล่วงประมาณ 50-100 เส้นในภาวะปกติ แต่ถ้าคุณพบว่าเส้นผมร่วงมากเกินกว่า 100 เส้น ในแต่ละวัน เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ คุณอาจมีผมร่วงที่ผิดปกติ นอกจากปริมาณเส้นผมแล้ว ในบางคนอาจมีลักษณะของเส้นผม ที่หลุดออกมาผิดปกติ เช่น หักตรงกลางเส้นผม เส้นผมบิดงอมาก เป็นต้น ในบางคนอาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือมีการร่วงของขน ในบริเวณอื่นของร่างกายร่วมด้วย เช่น ขนคิ้ว หนวด เป็นต้น
สาเหตุของผมร่วงผิดปกติ
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- androgenetic alopecia เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ในทั้งสองเพศ เกิดจากสองปัจจัยร่วมกัน คือ ภาวะทางพันธุกรรม และฮอร์โมนเพศชาย testosterone เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ในเพศชายอาจเริ่มตั้งแต่อายุเลย 20 ปีขึ้นไป จะมีเส้นผมขนาดเล็กลงๆ ในเพศชายมักมีผมบาง บริเวณชายผมด้านหน้า หรือกลางกระหม่อม แต่ในสาวๆจะบางทั่วๆทั้งศีรษะ
- alopecia areata ผมจะร่วงเป็นหย่อมๆ มักเป็นรูปกลมหรือรี สาเหตุยังไม่ทราบแน่ ในปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เฉพาะที่เซลล์รากผม โดยที่สุขภาพอื่นๆของร่างกายปกติดี ผมอาจร่วงหย่อมเดียวหรือหลายหย่อมก็ได้ ในรายที่เป็นมาก อาจมีผมร่วงได้ทั้งศีรษะ หรือมีผมร่วงบริเวณอื่นของร่างกายร่วมด้วย บางทีหายเองได้ภายใน 1 ปี และบางทีก็กลับมาเป็นใหม่ได้อีก การรักษาโรคนี้มีหลายวิธี เช่นฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์ที่บริเวณผมร่วงทุก 3-4 สัปดาห์ อาจใช้ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาทา minoxidil เป็นต้น
- telogen effluvium ผมร่วงเกิดภายหลังจากมีภาวะเครียดที่รุนแรงต่อร่างกาย หรือจิตใจ เช่น การเจ็บป่วย ไข้สูง การผ่าตัด หลังคลอดบุตร
เป็นต้น มักเกิดผมร่วงหลังเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 2-3 เดือน เมื่อพ้นสภาวะความเครียดดังกล่าว เส้นผมจะงอกใหม่เป็นปกติใน 6 เดือน ถึง 1 ปี
นอกจากนี้ สาเหตุของผมร่วงยังมีอีกมาก เช่น โรคทางกายบางอย่างมีผมร่วงร่วมด้วยได้ เช่น ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ SLE การขาดอาหารจำพวกโปรตีนหรือธาตุเหล็ก การติดเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น
การทำทรงผมบางอย่างที่มีการดึงรั้งของเส้นผมมากเกินไป เช่น มัดผมแน่นๆ ก็ทำให้ผมร่วงได้ และถ้านานเกินไปจะเกิด ผมร่วงถาวรได้ ในเด็กอาจมีการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ ทำให้มีผมร่วงเป็นหย่อมตรงบริเวณที่ติดเชื้อ ยาบางตัว เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง มีผลข้างเคียงให้ผมร่วงได้เช่นกัน
ทำอย่างไรถ้ามีผมร่วงผิดปกติ
ถ้าคุณคิดว่ามีผมร่วงผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะช่วยบอกคุณได้ว่า ผมร่วงนั้นผิดปกติจริงหรือไม่ และช่วยหาสาเหต ุของความผิดปกติของผมร่วง ตรวจดูสุขภาพทั่วไปว่ามีการเจ็บป่วยอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ รวมทั้งหาวิธีรักษาที่เหมาะสม ในแต่ละบุคคล เนื่องจากผมร่วงมีหลายสาเหตุ และต้องการการรักษาที่แตกต่างกันออกไป หลีกเลี่ยงการดึงรั้งเส้นผม ดัดผม หรือหวีผมแรง ๆ ควรตัดผมสั้นและใช้หวีซี่ห่างๆ
การรักษาผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมน (androgenetic alopecia)
การใช้ยา
ปัจจุบันมียาเพียง 2 ชนิดที่เป็นที่ยอมรับว่าได้ผลในการรักษาผมร่วงชนิดนี้
- Minoxidil มียาทาขนาด 2-5% มีฤทธิ์กระตุ้นการเติบโตของเส้นผม จึงใช้ได้กับผมร่วงหลายสาเหตุด้วยกัน ยานี้ได้ผลประมาณ 10 -40% ของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ชายจะได้ผลน้อยกว่า บางคนอาจมีอาการระคายเคืองจากยา เช่น มีแสบ คัน แดง บริเวณที่ทายา ยานี้ต้องใช้ไปตลอด ถ้าหยุดยา ผมจะกลับมาร่วงอีกเหมือนตอนก่อนใช้ยา
- finasteride (Propecia) ใช้ในเพศชายเท่านั้น เป็นยารับประทาน พบว่าหลังจากรับประทานยาเป็นเวลา 2 ปี ประมาณ 80% จะเห็นผมร่วงลดลง และประมาณ 60% มีผมงอกใหม่เพิ่มขึ้น ยานี้มีผลข้างเคียง ทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง และมีผลรบกวนการตรวจการทำงานของต่อมลูกหมาก โดยทำให้ค่า PSA (prostate specific antigen) ลดลง ถ้าต้องได้รับการตรวจเลือดดูระดับPSA ต้องบอกให้แพทย์ทราบ เพื่อการแปรผลที่ถูกต้อง เมื่อหยุดยาจะกลับมาผมร่วงอีก ยานี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
วิธีอื่นๆ เช่น การปลูกผม ใช้วิก ในปัจจุบันการปลูกผมได้ผลใกล้เคียงผมที่ขึ้นตามธรรมชาติมากขึ้น การปลูกผมอาจต้องทำหลายครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้มีผมถาวร
10 ม.ค. 2567
ผู้ชม 245 ครั้ง